วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

แบคทีเรียในน้ำลายหมีสีน้ำตาลอาจเป็นยาปฏิชีวนะชนิดใหม่

ในบรรดาเชื้อแบคทีเรียหลากหลายชนิดที่อยู่ในน้ำลายของหมีสีน้ำตาลพันธุ์ไซบีเรียตะวันออก (East Siberian brown bear) มีอยู่อย่างน้อยชนิดหนึ่งที่อาจนำไปพัฒนาเป็นยาปฏิชีวนะขนานใหม่ ซึ่งจะสามารถต้านทานเชื้อดื้อยาชนิดรุนแรงหรือซูเปอร์บั๊ก (Superbug) ได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรัตเจอร์สของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการค้นพบข้างต้นลงในวารสาร PNAS โดยระบุว่าได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด แยกแยะเชื้อแบคทีเรียนับแสนชนิดในน้ำลายของหมีออกจากกัน โดยให้เชื้อแต่ละชนิดพันธุ์แยกกันเกาะอยู่กับหยดน้ำมันเล็ก ๆ เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบว่าแบคทีเรียชนิดใดจะมีความสามารถต้านทานเชื้อดื้อยาได้บ้าง
การที่นักวิทยาศาสตร์เลือกเอาหมีสีน้ำตาลพันธุ์ไซบีเรียตะวันออกมาศึกษา เพื่อค้นหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์นั้น เนื่องจากสัตว์ป่าที่อยู่ในสภาพแวดล้อมห่างไกลจากความเจริญและมนุษย์ น่าจะมีระบบชีวนิเวศจุลชีพ (Microbiome) หรือการดำรงอยู่ร่วมกันของจุลินทรีย์หลากหลายชนิดในร่างกายที่แตกต่างออกไปและยังไม่ถูกปนเปื้อน ซึ่งลักษณะพิเศษนี้ช่วยให้สัตว์ป่ามีภูมิต้านทานเชื้อโรคร้ายที่อยู่รอบตัวได้


ผลการตรวจสอบเบื้องต้นปรากฏว่า มีเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งในน้ำลายของหมีสีน้ำตาล ไม่มีเชื้ออันตรายอย่าง Staphylococcus aureus มาอาศัยร่วมอยู่ด้วย แสดงว่าแบคทีเรียชนิดนี้สามารถฆ่าเชื้ออันตรายดังกล่าว ซึ่งเป็นเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะเมทิซิลลิน หรือที่เรียกกันว่าเชื้อ MRSA ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของวงการสาธารณสุขทั่วโลกนั่นเอง

ศ. คอนสแตนติน เซเวรินอฟ ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า จำเป็นต้องจับหมีสีน้ำตาลพันธุ์ดังกล่าวมาจากถิ่นอาศัยในป่าลึก เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำลาย ก่อนจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม เพราะไม่อาจใช้หมีในสวนสัตว์ที่กินอาหารและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ระบบชีวนิเวศจุลชีพในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากตอนเป็นสัตว์ป่าแล้ว
"เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่เราใช้แยกแยะเชื้อแบคทีเรียนับแสนชนิดในน้ำลายของหมีออกจากกัน ทำให้ค้นพบเชื้อแบคทีเรียที่มีศักยภาพในการเป็นยาปฏิชีวนะขนานใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เทคนิคนี้จะปูทางไปสู่การค้นหายาปฏิชีวนะรุ่นใหม่จากสัตว์ป่า ซึ่งจะทรงประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อดื้อยาได้ดีกว่าเดิม" ศ. เซเวรินอฟกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น