วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

แบคทีเรียในน้ำลายหมีสีน้ำตาลอาจเป็นยาปฏิชีวนะชนิดใหม่

ในบรรดาเชื้อแบคทีเรียหลากหลายชนิดที่อยู่ในน้ำลายของหมีสีน้ำตาลพันธุ์ไซบีเรียตะวันออก (East Siberian brown bear) มีอยู่อย่างน้อยชนิดหนึ่งที่อาจนำไปพัฒนาเป็นยาปฏิชีวนะขนานใหม่ ซึ่งจะสามารถต้านทานเชื้อดื้อยาชนิดรุนแรงหรือซูเปอร์บั๊ก (Superbug) ได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรัตเจอร์สของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการค้นพบข้างต้นลงในวารสาร PNAS โดยระบุว่าได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด แยกแยะเชื้อแบคทีเรียนับแสนชนิดในน้ำลายของหมีออกจากกัน โดยให้เชื้อแต่ละชนิดพันธุ์แยกกันเกาะอยู่กับหยดน้ำมันเล็ก ๆ เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบว่าแบคทีเรียชนิดใดจะมีความสามารถต้านทานเชื้อดื้อยาได้บ้าง
การที่นักวิทยาศาสตร์เลือกเอาหมีสีน้ำตาลพันธุ์ไซบีเรียตะวันออกมาศึกษา เพื่อค้นหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์นั้น เนื่องจากสัตว์ป่าที่อยู่ในสภาพแวดล้อมห่างไกลจากความเจริญและมนุษย์ น่าจะมีระบบชีวนิเวศจุลชีพ (Microbiome) หรือการดำรงอยู่ร่วมกันของจุลินทรีย์หลากหลายชนิดในร่างกายที่แตกต่างออกไปและยังไม่ถูกปนเปื้อน ซึ่งลักษณะพิเศษนี้ช่วยให้สัตว์ป่ามีภูมิต้านทานเชื้อโรคร้ายที่อยู่รอบตัวได้


ผลการตรวจสอบเบื้องต้นปรากฏว่า มีเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งในน้ำลายของหมีสีน้ำตาล ไม่มีเชื้ออันตรายอย่าง Staphylococcus aureus มาอาศัยร่วมอยู่ด้วย แสดงว่าแบคทีเรียชนิดนี้สามารถฆ่าเชื้ออันตรายดังกล่าว ซึ่งเป็นเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะเมทิซิลลิน หรือที่เรียกกันว่าเชื้อ MRSA ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของวงการสาธารณสุขทั่วโลกนั่นเอง

ศ. คอนสแตนติน เซเวรินอฟ ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า จำเป็นต้องจับหมีสีน้ำตาลพันธุ์ดังกล่าวมาจากถิ่นอาศัยในป่าลึก เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำลาย ก่อนจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม เพราะไม่อาจใช้หมีในสวนสัตว์ที่กินอาหารและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ระบบชีวนิเวศจุลชีพในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากตอนเป็นสัตว์ป่าแล้ว
"เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่เราใช้แยกแยะเชื้อแบคทีเรียนับแสนชนิดในน้ำลายของหมีออกจากกัน ทำให้ค้นพบเชื้อแบคทีเรียที่มีศักยภาพในการเป็นยาปฏิชีวนะขนานใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เทคนิคนี้จะปูทางไปสู่การค้นหายาปฏิชีวนะรุ่นใหม่จากสัตว์ป่า ซึ่งจะทรงประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อดื้อยาได้ดีกว่าเดิม" ศ. เซเวรินอฟกล่าว


เทคโนโลยีรักษาความปลอดภัย: ระบบควันไล่โจรขึ้นบ้าน

"หากโจรมองไม่เห็น พวกเขาก็เอาอะไรไปไม่ได้" นี่คือแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนา ZeroVision อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยที่จะช่วยจัดการกับปัญหาตีนแมวย่องเบาเข้าไปลักทรัพย์ตามบ้านเรือน ด้วยการปล่อยควันหนาทึบเมื่อตรวจจับว่ามีผู้บุกรุกเข้าบ้าน

บริษัทผู้ผลิตบอกว่า แม้นี่อาจไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ แต่การนำอุปกรณ์ปล่อยควันมาใช้กับระบบบ้านอัจฉริยะถือเป็นมิติใหม่ในการรักษาความปลอดภัย โดย ZeroVision จะตรวจจับผู้ที่บุกรุกเข้าบ้าน จากนั้นระบบจะส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบความปลอดภัยผ่านกล้องวงจรปิด และเมื่อเห็นว่ามีผู้บุกรุก เจ้าหน้าที่จะสั่งการให้ระบบปล่อยควันหนาทึบออกมาในห้องที่มีการติดตั้งระบบนี้ ซึ่งจะปิดกั้นทัศนวิสัยอย่างสิ้นเชิงภายใน 45 วินาที บริษัทผู้ผลิตอ้างว่าควันจะหายไปภายใน 45 นาทีและไม่ทิ้งสารตกค้างใด ๆ ภายในบ้าน



ยาฆ่าแมลงตกค้างในลองกองสด
ลองกอง ผลไม้ที่ขึ้นชื่อในเรื่องรสหวานแสนอร่อย เนื้อมีกลิ่นหอม นิยมทานแบบสดๆ มีแหล่งปลูกสำคัญอยู่ทางภาคใต้และภาคตะวันออกของไทย

แต่แท้ที่จริงแล้ว ลองกองมีถิ่นกำเนิดมาจากแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในหมู่เกาะชวา เกาะมลายูและทางตอนใต้ของไทยในจังหวัดนราธิวาส

ในเมืองไทยของเรามีสภาพภูมิประเทศและอากาศเหมาะสม ลองกองจึงมีรสชาติดีกว่าที่อื่น ปกติหากปลูกแค่พอเก็บทานกันภายในบ้าน ที่เหลือก็ขายตามตลาดในหมู่บ้าน ชุมชน ก็ไม่มีปัญหาอะไร ทว่าหากมีการปลูกจำนวนมากเพื่อขายในเชิงพาณิชย์ หรือขายครั้งละปริมาณมากๆ เกษตรกร หรือผู้ปลูกบางราย อาจมีการป้องกันผลผลิตไม่ให้ถูกทำลายโดยโรค

และแมลงที่เป็นศัตรูพืช โดยใช้สารเคมีต่างๆ หรือยาฆ่าแมลง หากใช้ชนิดที่กฎหมายห้ามใช้ หรือใช้ชนิดที่อนุญาตให้ใช้ได้ แต่ใช้ในปริมาณมากเกินไป หรือใช้ไม่ถูกวิธี อาจทำให้มียาฆ่าแมลงตกค้างในลองกองได้ ทำให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น คลอร์ไพริฟอส ยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต

เมื่อได้รับจากอาหารปริมาณมากจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ วิงเวียน อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหดตัวเป็นหย่อมๆ แน่นหน้าอก อาเจียน ท้องเดิน ตาพร่า หากมีอาการพิษรุนแรง จะหมดสติ น้ำลายฟูมปาก อุจจาระ ปัสสาวะราด และหายใจลำบาก

วันนี้สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างลองกองสดในท้องตลาดจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้า ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์ยาฆ่าแมลงชนิดคลอร์ไพริฟอสตกค้าง
ผลวิเคราะห์ปรากฏว่าไม่พบยาฆ่าแมลงชนิดคลอร์ไพริฟอสตกค้างในลองกองสดทั้ง 5 ตัวอย่าง

แม้ว่าวันนี้จะทานลองกองกันได้อย่างสบายใจ แต่ก็อย่าประมาท ก่อนทานควรนำมาล้างด้วยน้ำให้สะอาดทุกครั้ง ให้ล้างด้วยน้ำไหลโดยแช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านนาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5% ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด แค่นี้ก็มั่นใจว่าปลอดภัยจากพิษภัยของยาฆ่าแมลง



ที่มา:ไทยรัฐ
จ่อทบทวนไทยนำเข้าขยะพิษ พบ3จ.อีสานเสี่ยงรับสารเคมี
จ่อทบทวนไทยห้ามนำเข้าขยะพิษตามรอยจีนชี้ขอเวลาพิจารณาให้รอบคอบ ขณะที่ สธ.เผยผลคัดกรองคนทำอาชีพแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ 3 จว.อีสาน พบเสี่ยงรับอันตรายจากสารเคมี 33.94%
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างพิจารณาความจำเป็นในการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามอนุสัญญาบาเซล  โดยเฉพาะประเด็นความสามารถในการรีไซเคิลและกำจัดซากอิเล็กทรอนิกส์ของโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามอนุสัญญา เป็นไปตามมาตรฐานหรือมีปัญหามากน้อยแค่ไหน เนื่องจากที่ผ่านมาแม้โรงงานได้รับใบอนุญาตแล้ว แต่หลายโรงงานก็ได้ทำผิดเงื่อนไข เช่นนำซากอิเล็กทรอนิกส์ไปส่งต่อให้โรงงานแห่งอื่นที่ไม่ได้รับใบอนุญาต  ล่าสุดมีโรงงานทีได้รับอนุญาตรีไซเคิล 7แห่งถูกพักใบอนุญาตไปถึง 5 แห่ง มีโรงงานเพียง2 แห่ง คือ บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์  บริษัทหมิง เอ็นจิเนียริ่ง  (ไทยแลนด์) และบริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ อีโค-แมนูแฟคเจอริ่งเท่านั้นที่ทำถูกต้อง หากได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาต่อไป

ตอนนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างพิจารณาถึงความจำเป็นในการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามากำจัดในประเทศว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เพราะเกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายจึงต้องคิดอย่างรอบคอบ มีทั้งโรงงานที่ทำถูกต้องแต่โรงงานที่ทำไม่ต้องก็มีจำนวนมาก คาดว่า จะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้  นอกจากนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการพิจารณาบทลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายทั้งพ.ร.บ.โรงงานพ.ศ. 2535 ที่มีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาทหรือจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ปี 2535ของกรมโรงงานฯที่มีโทษปรับ 2 แสนบาท หรือ จำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือ ทั้งจำทั้งปรับ สำหรับโรงงานที่นำไปกำจัดขยะอุตสาหกรรมแบบผิดวิธีเนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าเป็นโทษที่เบาเกินไป เมื่อเทียบกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

ด้านนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม  กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจโรงงาน คัดแยกขยะและรีไซเคิล ที่เกี่ยวข้องกับ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 80%  จากทั้งหมด  148  โรงงาน มีโรงงานผิดกฎหมายประมาณ 10 % คาดว่าภายในกลางเดือนมิ.ย.จะตรวจสอบแล้วเสร็จทั้ง 148 โรงงาน และได้วางแผนระยะยาวเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบทั้งการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ด่านศุลกากรและสั่งให้กรมโรงงานในพื้นที่ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบโรงงานกำจัดซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ

นพ.สมเกียรติ  ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการคัดกรองความเสี่ยง จากการทำงานของผู้ประกอบอาชีพเก็บ คัดแยก และรีไซเคิลขยะในโครงการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพจากการคัดแยกและรีไซเคิลขยะ ในพื้นที่เสี่ยงสูงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพประชาชน ปีงบประมาณ 2559 ของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ใน 3 จังหวัดคือ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี มีคนทำอาชีพดังกล่าว 607 ราย และพบได้รับความเสี่ยงจากการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้รับการสัมผัสสารเคมีจากการหายใจการกิน ทางผิวหนังในขณะทำงาน 206 ราย คิดเป็น 33.94 เปอร์เซ็นต์




"กษ."สอบเส้นทางเงิน"ผู้บริหาร" เอี่ยว"พ่อค้า"สารเคมี
"จ่อสอบเส้นทางการเงิน ข้าราชการระดับสูง กระทรวงเกษตรฯเอี่ยวอนุญาตนำเข้า3สารพิษ ปูดค่าใบอนุญาตมากกว่า 7 หลักต่อใบ พร้อมให้หัวคิวลิตรละ1 บาท "

เมื่อวันที่ 19 ส.ค.แหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกรณีมีกระแสโจมตีผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เรื่องรับผลประโยชน์จากกลุ่มพ่อค้านำเข้าสารเคมีวัตถุอัตราย 3 ชนิดใช้กำจัดศัตรูพืชและโรคแมลง พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต จึงไม่เสนอแบนสารเคมี 3 ตัวดังกล่าว ว่า ประเด็นดังกล่าวจะมีการตรวจสอบเส้นการเงินข้าราชการระดับผู้บริหาร ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และอดีตผู้บริหาร หลังจากเครือข่ายเอกชน สนับสนุนการแบน3 สารพิษ จะไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในสัปดาห์นี้ ซึ่งมีข้อครหากระทรวงเกษตรฯ มาต่อเนื่อง ในเรื่องผลประโยชน์ว่ามีการเรียกรับเงินมากว่า 7 หลัก ค่าใบอนุญาตต่างๆ โดยพ่อค้ายังจ่ายหัวคิว ลิตรละ1 บาท ทั้งนี้จากสถิตินำเข้าสารเคมี ปีละ 4-5 หมื่นตัน




คลี่ปมสารเคมีเกษตร

นับตั้งแต่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ประกอบด้วย 5 กระทรวงหลัก ได้แก่ สาธารณสุข มหาดไทย เกษตรและสหกรณ์ พาณิชย์ และอุตสาหกรรม มีมติ ยกเลิกการนำเข้าสารเคมี 2 ชนิด ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เมื่อเดือน เม.ย.2560 ส่วนไกลโฟเซต ถูกจำกัดการใช้
ก่อนที่ในวันที่ 1 ธ.ค.2562 จะต้องยุติการใช้ 3 สารเคมีดังกล่าวโดยสิ้นเชิง ในช่วงเวลาสุญญากาศที่เหลือกว่า 1 ปี ก่อนจะยุติการใช้นั้น มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมาก ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนการใช้สารเคมีต่อไป และฝ่ายที่คัดค้าน เนื่องจากคำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งผู้ใช้และผู้บริโภคพืช ผัก และผลไม้

จากข้อมูลของมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ระบุว่า พาราควอต หรือสารกำจัดวัชพืช เป็นสารเคมีอันตรายที่มีพิษเฉียบพลันสูง ไม่มียาถอนพิษ และก่อเกิดโรคพาร์กินสัน หรือโรคสั่นสันนิบาต ปัจจุบันมีประเทศที่แบนพาราควอตแล้วประมาณ 51 ประเทศ และเตรียมการแบนในปี 2020 อีก 2 ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน และบราซิล

ขณะที่คลอร์ไพริฟอส หรือยากำจัดแมลงศัตรูพืชนั้นเป็นสารพิษที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและทารกโดยตรง และสารฆ่าแมลงชนิดนี้ศาลที่สหรัฐอเมริกาเพิ่งตัดสินไปเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา สั่งการให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ดำเนินการแบนภายใน 60 วัน เนื่องจากยังพบการตกค้างในน้ำดื่มและพืช
เช่นเดียวกับที่ไกลโฟเซต หรือยากำจัดวัชพืช ที่สถาบันมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก ประ-กาศให้เป็นสารน่าจะก่อมะเร็ง และศาลที่สหรัฐอเมริกายังตัดสินให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ของโลก ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับอดีตภารโรงจำนวน 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 9,600 ล้านบาท เนื่องจากยาฆ่าหญ้าที่ผลิตจากบริษัทเพื่อใช้ในการกำจัดวัชพืชในสนามโรงเรียน ทำให้เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
นอกจากนี้ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN) ระบุว่า การสุ่มตรวจผักและผลไม้ในท้องตลาดทั่วประเทศ จำนวน 150 ตัวอย่าง เมื่อช่วงปลายปี 2560 พบว่า มีสารพิษตกค้างจำนวนมาก โดยเฉพาะพาราควอตตกค้างสูงถึง 55% จากจำนวน 38 ตัวอย่าง รองลงมาคือไกลโฟเซต ตรวจพบสารตกค้าง 6 ตัวอย่าง
ขณะที่นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกตัวประกาศสนับสนุนการยกเลิกสารเคมีอันตรายกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดแบบสุดโต่ง หนุนทำการเกษตรอินทรีย์ควบคู่เกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่จากฝ่ายรัฐบาล

ส่วนฝ่ายที่มีความคิดเห็นตรงข้าม ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์อารักขาพืช มีความคิดเห็นว่า การแบนทั้ง 3 สารนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ รวมถึงเกษตรกรด้วย หากไม่มีสารพาราควอตใช้ ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรจะสูงขึ้น เพราะต้องใช้แรงงานคนในการถอนหญ้า ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายต่อไร่สูง

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเห็นชอบมาตรการที่กรมวิชาการเกษตรเสนอแนะแนวทางการใช้ 3 สารเคมี โดยมีมติยกเลิกการใช้สารกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ในพื้นที่ปลูกพืชผัก สมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ อาทิ โรงเรียน สนามกอล์ฟ บ้านเรือน ภายใน 90 วัน
ขณะที่สารเคมีพาราควอตและไกลโฟเซตให้ใช้เฉพาะในพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ส่วนสารคลอร์ไพริฟอสใช้ในการปลูกไม้ผลไม้ดอกและพืชไร่เท่านั้น

สำหรับเรื่องสารทดแทนพาราควอตนั้น กรมวิชาการเกษตรยังไม่ได้เปิดเผยชื่อสาร เพียงแต่ระบุว่า สารทดแทนยังมีราคาแพงและกำจัดศัตรูพืชได้แค่บางชนิดเท่านั้น ไม่ครอบคลุมกำจัดศัตรูพืชเหมือนกับพาราควอต

ที่มา:ไทยรัฐ

ปลดล็อกแผ่นดินอาบพิษ ตัดตอนทีมงานคุณภาพ
หมดเวลาสำหรับสารเคมีสารพิษฆ่าหญ้าฆ่าแมลงเกิดมะเร็ง...ศาลสหรัฐฯสั่งมอนซาโต้ชดใช้ 289,000,000 เหรียญ ให้คนป่วยที่ได้รับเคราะห์เป็นมะเร็งทั่วตัว ...รอจ่ออีกเป็น 1,000 ราย ในประเทศไทย ตัดขา แขน ตายเป็นร้อย มาหลายปี...ลุกขึ้นมาครับ เรียกร้องความยุติธรรม

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดประเด็นตอกย้ำความจริงต่อไปอีกว่า ก่อนหน้าที่จะมีคำตัดสินชดใช้นี้ ศาลสั่งให้หน่วยงาน ปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ของสหรัฐฯ ยุติการอนุญาตการใช้สารคลอร์ไพริฟอส

ขณะที่...ประเทศไทยใช้กันต่อไป...คณะกรรมการวัตถุอันตรายบอกหลักฐานไม่ชัดมีอันตราย...กรรมของสังคมไทย? โดยเฉพาะกรณีพิจารณาล่าสุด 3 สารเคมี พาราควอต, คลอร์ไพริฟอส, ไกลโฟเสต ความจริงทางวิทยาศาสตร์กรณีนี้เป็นการพิจารณาโดยใช้หลักฐานเรื่องผลการศึกษาสมองเด็กที่ตอนอยู่ในท้องแม่ที่ได้รับสารเคมีในระดับต่างๆกันโดยใช้คอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้า
 และ...คำแถลงของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย คือเชื่อว่าคลอร์ไพริฟอส แม้ในระดับที่ต่ำกว่า EPA กำหนด และแม้จะจำกัดการใช้ในบ้าน ยังมีโอกาสได้จากการหายใจ น้ำ พืช ผัก อาหาร และก็เป็นความจริง
ประเด็นเรื่อง อาหารปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิรูประบบของประเทศอยู่ในกรอบของการคุ้มครองผู้บริโภคและประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 เมษายน 2561 ถือว่า...ต้องปฏิบัติซึ่งอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ และอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ย้ำว่า ร่างพระราชบัญญัติเกษตรยั่งยืน โดยปลอดสารเคมีและทำให้ประชาชนปลอดภัย เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะเลิกการใช้สารเคมีที่มีพิษต่อคนไทย ทั้งโดยการสัมผัสในพื้นที่และที่ได้จากผัก ผลไม้ และ...อาหารอื่นๆ

ที่มา:ไทยรัฐ
หมอค้านอุ้มใช้สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร
"ศ.นพ.ธีระวัฒน์"ซัดมติคกก.วัตถุอันตราย อุ้มใช้สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร ไม่สนผลกระทบต่อสุขภาพ ขัดกฎหมายมาตรา 157

เมื่อวันที่ 12 ส.ค.  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อวันที่ 23 พ.ค.2561 ให้วัตถุอันตราย 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต สามารถใช้ต่อไปได้ ถือเป็นการละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คือการละเว้นหน้าที่ที่ควรทำ เพราะที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวมข้อมูลวิชาการผลกระทบเกี่ยวกับสารเคมีเหล่านี้ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ โดยข้อมูลที่ชัดเจน คือ จ.หนองบัวลำภู มีคณะผู้วิจัยของสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ลงไปศึกษาติดตาม ที่รพ.หนองบัวลำพูมีสถิติโรคเนื้อเน่าตั้งแต่ปี 2557 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาประมาณปีละ 120 ราย ล่าสุด 2560 มีผู้ป่วย 102 ราย เสียชีวิต 6 ราย ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับสารเคมีทางการเกษตร และหลายรายที่ไม่เสียชีวิตแต่ต้องตัดแขนตัดขาก็มี ในต่างประเทศสนใจเรื่องนี้มาก ล่าสุด คณะลูกขุนของศาลในนครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา สั่งให้บริษัท มอนซานโต ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการเกษตรจ่ายค่าชดเชย 289 ล้านดอลลาร์ ให้กับอดีตผู้ดูแลสนามหญ้าของโรงเรียนที่กำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ที่เกิดจากยากำจัดวัชพืชของบริษัทดังกล่าว


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับภาคประชาชน องค์กรต่างๆ รวมทั้งกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุขว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป เพราะถือมติดังกล่าวขัดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ชัดเจน อย่างไรก็ตาม จากที่มีการต่อต้านขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดคล้ายๆ ทบทวนเรื่องนี้ ชื่อว่าคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน ซึ่งตนเป็นหนึ่งในกรรมการ จะประชุมในวันที่ 24 ส.ค.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ก็ต้องดูว่าผลจะออกมาอย่างไร หากสุดท้ายถูกเพิกเฉยอีก ทางนักวิชาการ ภาคประชาชนจะหารือกับญาติผู้เสียหายที่เสียชีวิต และผู้เสียหายที่ถูกตัดแขนขา ผู้ป่วยเป็นมะเร็ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบหมด


ห่วง บ.ยักษ์ใหญ่ค้านโละ "พาราควอต"
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเกิดปัญหาการกำหนดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและแมลงพาราควอต ครอไพรีฟอส และไกลโฟเสท เพราะยังไม่สามารถห้ามการใช้และห้ามการนำเข้าได้ และจากข้อมูลของเครือข่ายต้านสารพิษ และ biothai พบว่าขณะนี้มีการกระทำบางอย่างของทางกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่รวมตัวทำหนังสือส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่มีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆ โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายต่างๆ เช่น เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรธรรมชาติ เป็นต้นให้ได้ 5 ล้านไร่ ภายในปี 2564 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และเพื่อให้สอดคล้องกันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยประกาศว่าจะเข้าร่วมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวแน่นอนว่า ซึ่งการคัดค้านดังกล่าว จะรวมไปถึงการไม่เห็นด้วยที่จะแบนการนำเข้าสารเคมีพาราควอตเช่นกัน

การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชนานทำให้ดินหมดความสามารถในการดูดซับและในที่สุดก็ต้องปล่อยให้สารเคมีละลายในน้ำ เข้าไปในพืชล้างไม่ออกและยังเข้าไปในอาหารเมื่อคนกินไปนานก็เกิดโรคต่างๆ เช่นโรคมะเร็ง และบริษัทที่ขายสารเคมีก็ยังผลิตยาฆ่ามะเร็ง ได้กำไรครบวงจรศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

ที่มา:ไทยรัฐ